รายละเอียด
เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง สังกัดเรือนจำกลางเชียงราย ดำเนินการตามโครงการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปใช้ได้จริงภายหลังพ้นโทษ เป็นการสร้างกำลังใจให้กับผู้ต้องขังและยังทำให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสในการกลับคืนสู่สังคม โดยมีทักษะที่สามารถดำรงชีวิตที่พึ่งตนเองได้ไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก ในปัจจุบัน เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเป็นจุด Check in ที่สำคัญของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ
ประวัติความเป็นมา
ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเยี่ยมเยียนและประทานสิ่งของแก่ผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร การเสด็จเยี่ยมดังกล่าว ทำให้ทรงเห็นปัญหาของผู้ต้องขังหญิง ที่เมื่ออยู่ในเรือนจำแล้วก็ต้องขาดโอกาสต่างๆ ในชีวิตไป โดยเฉพาะความรักความอบอุ่นจากครอบครัว รวมทั้งทารกบริสุทธิ์ไร้ความผิดที่ถือกำเนิดขึ้นในเรือนจำจากครรภ์ของแม่ที่เป็นผู้ต้องขัง ซึ่งก็ทำให้ความขาดโอกาสชีวิตในด้านต่างๆ เกิดการตกทอดและดำเนินต่อไปอย่างซ้ำซ้อน และการขาดโอกาสต่างๆ เหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งปัญหาต่อไปในอนาคต ปัญหาที่ทรงค้นพบนั้นได้จุดไฟพระปณิธานในการที่จะทรงช่วยเหลือและให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขังหญิงขึ้น ทำให้ใน 5 ปีต่อมา เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นปริญญาเอก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงทรงก่อตั้งโครงการกำลังใจขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร โดยแรกเริ่มนั้นทรงโปรดให้วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย เข้ามาดำเนินงานภายใต้พระดำริที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และทารกที่เกิดในเรือนจำ และเมื่อโครงการดังกล่าวนี้ได้ขยายไปสู่เรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศ ระดับของการช่วยเหลือก็ขยายไปสู่การฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต่างๆ อันเป็นการเตรียมความพร้อมในการกลับสู่สังคมด้วย นอกจากนี้ ยังทรงเล็งเห็นว่า การประทานสิ่งของบรรเทาทุกข์นั้นยังไม่ใช่การช่วยเหลือที่ตรงจุดและยั่งยืน เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปแล้วสิ่งของเหล่านั้นย่อมหมดไป จึงมีพระดำริให้มีการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มาปรับใช้ในเรือนจำ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ต้องขังรู้คุณค่าของตัวเอง พึ่งพาตนเองได้ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย เพื่อเมื่อออกไปจากเรือนจำแล้วจะสามารถหยัดยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่หันไปกระทำผิดซ้ำ ในการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในเรือนจำนั้น นอกจากจะมีการอบรมทางด้านแนวทางทัศนคติที่ควรมีในการใช้ชีวิต ยังมีความพยายามทำให้เกิดการปฏิบัติอันเป็นรูปธรรมด้วยการอบรมการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต่อมาได้มีการขยายผลเพิ่มเติมเป็นโครงการพัฒนาระบบการผลิตมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับเรือนจำชั่วคราว จนกระทั่งเรือนจำนำร่องโครงการทั้ง 4 แห่งได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9000 เล่ม 1-2552 ส่วนพืชผักจากโครงการก็ได้ออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์ “Inspire กำลังใจ” และในเวลาต่อมา ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อนอินทรีย์ของเรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ โครงการกำลังใจยังได้เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องของทุนในการประกอบอาชีพ กล่าวคือ เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษมาแล้ว แม้จะมีความรู้ในการประกอบอาชีพติดตัวมาจากการอบรมในเรือนจำ แต่ก็ยังอาจเป็นการยากในการหาเงินทุนเพื่อแปรเปลี่ยนความรู้ที่ตนมีเป็นการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง จึงได้มีประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหาร “กองทุนตั้งตัวได้” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการมอบทุนให้กับผู้ต้องขัง จากที่เดิมกองทุนดังกล่าวเน้นการให้ทุนกับผู้ที่ศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา หรือจบการศึกษามาไม่เกิน 5 ปี หลักสูตรกำลังใจ – ดอยฮาง Model หลักสูตรกำลังใจคือกระบวนการปลายน้ำของความพยายามในการคืนผู้ต้องขังสู่สังคม เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น แม้จะมีกระบวนการในการเตรียมความพร้อมผู้ต้องขังก่อนปล่อยตัว แต่ก็ยังมีลักษณะการเตรียมอย่าง one size fit all หรือก็คือเป็นการเตรียมการโดยไม่ได้มีการคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ต้องขังแต่ละคนซึ่งย่อมส่งผลต่อทางเลือกในชีวิตที่แตกต่าง เช่น ปัญหาการไม่มีตลาดรองรับทักษะอาชีพที่ฝึกมาจากในเรือนจำ ไม่ว่าผู้ต้องขังจะเลือกกลับไปอยู่ในสังคมเดิมหรือพยายามเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมอื่น ซึ่งอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่การกระทำผิดซ้ำจนต้องโทษจำคุกได้อีก ในการนี้ จึงมีการจัดตั้งโครงการนำร่อง “ศูนย์การเรียนรู้ดอยฮาง” หรือ “ดอยฮาง Model” ขึ้นที่เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพัฒนาขึ้นตามศาสตร์แห่งพระราชา “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” มุ่งสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับสังคมบนหลัก 3S คือ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (ความพอเพียง) และ Sustainability (ความนั่งยืน) ดอยฮาง Model นั้นแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. ปรับทุกข์-ผูกมิตร: สร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อเรียนรู้ผู้อื่นและสะท้อนตัวเอง 2. ถอดรื้อ-สร้างใหม่: สะท้อนเหตุที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติด เสริมสร้างกำลังใจสู่ชีวิตใหม่ 3. ดูแลต่อเนื่อง: ภาคีเครือข่ายรวมทั้งบุคคลแวดล้อมร่วมกันดูแลผู้ต้องขังด้วยกัน ในดอยฮาง Model นี้ ผู้ต้องขังจะเป็น Active Learner คือไม่ใช่ผู้ที่นั่งฟังการสั่งสอนอย่างเดียว แต่คือได้เข้าสู่การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ทั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือ ต้องมีการคัดกรองผู้ต้องขังที่ปรารถนาจะได้รับประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการจริงๆ ไม่ใช่เพียงเพื่อได้ย้ายมาอยู่ในเรือนจำชั่วคราวดอยฮางที่มีความแออัดน้อยกว่าและสะดวกสบายกว่า และในส่วนของผู้คุมนั้น จะต้องไม่ทำหน้าที่ควบคุมสั่งสอน แต่คือสวมบทบาทของผู้เสริมสร้างวิธีคิดและประสานประโยชน์กับภาคีเครือข่ายภายนอก ทั้งเพื่อสามารถสร้างอาชีพที่เหมาะสมแก่ตัวผู้ต้องขัง มีตลาดรองรับ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจให้สังคมภายนอกยอมรับและให้โอกาสในตัวผู้ต้องขังที่พ้นโทษไปแล้ว
ลักษณะเด่น
เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง สังกัดเรือนจำกลางเชียงราย ดำเนินการตามโครงการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปใช้ได้จริงภายหลังพ้นโทษ เป็นการสร้างกำลังใจให้กับผู้ต้องขังและยังทำให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสในการกลับคืนสู่สังคม โดยมีทักษะที่สามารถดำรงชีวิตที่พึ่งตนเองได้ไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก ในปัจจุบัน เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เปิดให้บริการเข้าเยี่ยมชมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเป็นจุด Check in ที่สำคัญของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ
ที่มาข้อมูล
Thailand Tourism Directory